ประเด็นร้อน

มหาวิทยาลัยต้องเป็นแบบอย่างของธรรมาภิบาล ไม่ใช่แสวงหาอภิสิทธิ์เพื่อยกเว้นการตรวจสอบทรัพย์สิน

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 10,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ - -

 

"ปัญญาพลวัตร" , "พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


ตอนแรกผมแปลกใจมากที่ “นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย” ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการมองว่าเป็นคนที่มีเกียรติของสังคมและมีความสำเร็จในชีวิตและอาชีพการงานสูง ไม่ยอมรับการตรวจสอบขั้นพื้นฐานอย่างการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. จนถึงขั้นมีข่าวขอลาออกกันเป็นจำนวนมากในหลายมหาวิทยาลัย ทำไมบรรดาคนที่สังคมมองว่ามีเกียรติประวัติสูงส่งเช่นนี้ จึงพากันหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลเบื้องต้น น่าประหลาดจริงๆ


ครั้นมาคิดอีกที โดยเชื่อมโยงกับธรรมชาติของมนุษย์ของนักปรัชญาบางสำนัก ที่ระบุว่า มนุษย์ทำอะไรด้วยเหตุผลเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก กล่าวคือในการกระทำใดๆ มนุษย์จะประเมินอรรถประโยชน์สูงสุดที่พวกเขาได้รับ หากคำนวณแล้วประโยชน์ที่เขาได้รับน้อยกว่ากว่าสิ่งที่ต้องสูญเสีย หรือทำแล้วไม่คุ้มเสีย พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะไม่ทำสิ่งนั้น กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ลาออกหรือประสงค์จะลาออก ผมคาดว่าอาจมีวิธีคิดแบบนี้ในการตัดสินใจ 


ทำไมในอดีตคนเหล่านี้จึงเต็มใจมาเป็นนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ก็เพราะว่าพวกเขาประเมินว่าตนเองได้รับประโยชน์มากกว่าสิ่งที่ต้องสูญเสียนั่นเอง ในอดีตการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยสูญเสียอะไรบ้าง อย่างมากคือ เสียเวลาในการประชุม ซึ่งก็ประมาณเดือนละครั้ง ครั้งละประมาณสองถึงสามชั่วโมง ขณะที่ผลประโยชน์ที่พวกเขาได้รับมีหลายอย่างด้วยกัน 


ผลประโยชน์ที่สำคัญคือ การได้รับเกียรติยศทางสังคม เพราะการเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคมในตัวของมันเอง การเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอันเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศนั้น มิใช่ว่าเป็นกันง่ายๆ มีแต่เฉพาะบุคคลบางคนและบางกลุ่มเท่านั้นที่มีโอกาสได้เป็น การที่ใครได้รับการยอมรับจากสถาบันทางวิชาการระดับสูง และถูกเชื้อเชิญมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอันเป็นองค์การสูงสุดในการบริหารมหาวิทยาลัยจึงถือว่า เป็นบุคคลที่ได้รับความยอมรับจากสังคมสูง ดังนั้นคนส่วนใหญ่ที่ได้รับตำแหน่งนี้มักจะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง


สำหรับผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆทั้งในแง่เบี้ยประชุม หรือสิทธิพิเศษที่มหาวิทยาลัยมอบให้นั้นมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เบี้ยประชุมคงไม่มากมายเท่าไรนักเมื่อเทียบกับสถานภาพทางเศรษฐกิจของกรรมการแต่ละคน เท่าที่ทราบคือมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งให้ไม่เท่ากัน อัตราอยู่ที่ประมาณสองพันถึงห้าพันบาทต่อการประชุมในแต่ละครั้ง ส่วนสิทธิพิเศษอื่นๆ ทั้งแบบที่เป็นทางการ และแบบที่อิงอยู่กับวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยนั้นมีอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมอบให้


ในอดีตเมื่อคำนวณผลประโยชน์ที่ได้รับกับสิ่งที่ต้องสูญเสียแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ที่เป็นกรรมการสภาก็ประเมินว่าสิ่งที่ได้รับมีมากกว่าสิ่งที่สูญเสีย ดังนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยใดทาบทามใครเข้ามาเป็นนายกหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัย เกือบทั้งหมดก็ตอบรับคำเชิญด้วยความเต็มใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่ไม่เคยเป็นกรรมการหรือนายกสภามหาวิทยาลัยใดมาก่อน ในมหาวิทยาลัยบางแห่งตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยถูกผูกขาดโดยบุคคลบางคนติดต่อกันเป็นเวลานับสิบปีหรืออาจนานกว่านั้น เรียกว่าบางคนมีอาชีพเสริมเป็นนายกหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็ว่าได้ 


สำหรับในปัจจุบัน นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายคนประเมินว่า การดำรงตำแหน่งเหล่านั้น “ได้ไม่คุ้มเสีย” เพราะต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและซับซ้อนที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมและหาเอกสารมากมาย เกิดความรู้สึกรำคาญ และคิดไปในทำนองเข้าข้างตนเองว่า “อุตส่าห์เสียสละมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ยังต้องทำเรื่องยุ่งยากขนาดนี้ ดังนั้นจึงลาออกเพื่อตัดความรำคาญ” 


ขณะที่บางคนมองว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินในการนำตัวเองไปสู่ความเสี่ยงของชีวิต เพราะหากมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการยื่นเอกสารหรือลืมแจ้ง หรือแจ้งไม่ครบถ้วนก็อาจมีความผิดฐานปกปิดทรัพย์สิน จนอาจนำไปสู่การถูกสอบสวนและดำเนินคดีอาญาได้ การตัดสินใจเพื่อลดความเสียงโดยการลาออกจึงเป็นทางเลือกของพวกเขา 


เหตุผลที่ใช้ในการอ้างอีกอย่างคือ การอ้างว่านายกสภามหาวิทยาและกรรมการมหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคล งบประมาณ ไม่ได้จับเงิน และไม่ได้มีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างใดภายในมหาวิทยาลัย สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากตำแหน่งก็มีเพียงเบี้ยประชุมไม่กี่พันบาทเท่านั้นในแต่ละเดือน ดังนั้นการยื่นบัญชีทรัพย์สินจึงเป็นการกระทำเกินเหตุอันควร เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ทำอย่างไม่สมเหตุสมผล รับไม่ได้ จึงตัดสินใจลาออกไป 


ด้วยเหตุผลทั้งหมดดังกล่าวจึงทำให้เราเห็นข่าวนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายคนแสดงเจตจำนงในการลาออก ที่ตลกร้ายคือ ข่าวที่ “อดีตประธานผู้ร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีส่วนในการบัญญัติมาตรการนี้ขึ้นมา ก็จะลาออกจากตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยด้วย กระแสการลาออกของนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วยเหตุผลของการที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน จึงแพร่ระบาดไปแทบทุกมหาวิทยาลัย 


คราวนี้บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็เกิดความตระหนกแตกตื่นกันขนานใหญ่ ด้วยเกรงการประชุมสภามหาวิทยาลัยจะไม่ครบองค์ประชุม ทำให้เกิดสูญญากาศของอำนาจและการตัดสินใจในการบริหารมหาวิทยาลัย ผลที่ตามมาคือการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเกิดภาวะชะงักงัน ไม่สามารถเดินหน้าได้ และจะเกิดผลกระทบที่ตามมาหลายอีกหลายอย่างโดยเฉพาะกับนักศึกษา


ความตระหนกตื่นตูมของบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่มีอดีตเป็นอธิการของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นำไปสู่ปรากฎการณ์ที่น่าสนใจไม่แพ้ปฏิกิริยาของบรรดานายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย นั่นคือ การประสานเสียงกันเดินหน้ากดดัน ป.ป.ช. ให้ยกเว้นการยื่นบัญชีทรัพย์สินของตำแหน่งนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย 


ผมเห็นปรากฎการณ์นี้แล้วก็รู้สึกอึ้งพอสมควร และได้แต่นึกปลงกับพฤติกรรมของบรรดากลุ่มคนที่เป็นผู้บริหารการศึกษาระดับสูงของประเทศเหล่านี้ แทนที่จะให้ความสำคัญและคำนึงถึงการวางบรรทัดฐานหลักการเชิงจริยธรรมในการบริหารมหาวิทยาลัยให้เป็นรากฐานของประเทศ กลุ่มคนเหล่านี้กลับคิดได้แค่การมองผลประโยชน์และผลกระทบในการบริหารระยะสั้น แถมยังเป็นการคิดที่ไม่รอบคอบและแตกตื่นเกินจริงอีกด้วย เพราะว่าผลกระทบที่อาจขึ้นสามารถแก้ไขได้ไม่ยากนัก หากคนเหล่านั้นมีความสามารถในการบริหารมหาวิทยาลัยดังที่คุยกันนักหนา


ผมคิดว่า การประเมินผลกระทบจากมาตรการการยื่นบัญชีทรัพย์สินของบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นการคิดแบบเพ้อฝันจินตนาการเกินความเป็นจริง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าในอนาคตจะไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิคนใดโดยเฉพาะจากภาคธุรกิจมาเป็นนายกหรือกรรมการสภามาหวิทยาลัยอีก ผมคิดว่าประเทศไทยไม่สิ้นไร้ไม้ตอกขนาดนั้นหรอกครับ คนดีและคนเก่งที่พร้อมจะเสียสละและยอมรับการตรวจสอบทรัพย์สินยังมีมากมายเหลือคณานับในสังคมไทย ขึ้นอยู่กับว่าความสามารถในการคิดของประชาคมมหาวิทยาลัยว่าจะข้ามพ้นกรอบความเคยชินของการเลือกนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยแบบเดิมๆได้หรือไม่เท่านั้นเอง 


ผมคิดว่า หลักการและเกณฑ์ที่ ป.ป.ช. ใช้ในการกำหนดว่าตำแหน่งใดต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้นโดยพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งนั้นเป็นหลักถือว่าถูกต้องแล้ว เพื่อเสริมพลังและวางรากฐานให้แก่หลักการธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ หากถามว่าตำแหน่งนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่มากน้อยเพียงใด พูดได้เลยครับว่าเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่มหาศาล และมีอิทธิพลต่อการบริหารมหาวิทยาลัยอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นหากขาดการตรวจสอบก็จะทำให้มหาวิทยาลัยมีโอกาสเกิดสถานการณ์การบริหารที่ไร้ธรรมาภิบาล มีการทุจริต และมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นโดยง่าย ดังที่เกิดขึ้นในหลายมหาวิทยาลัยในอดีต 


ผมลองแจกแจงอำนาจหน้าที่โดยสังเขปของของสภามหาวิทยาลัยให้เห็นในบางด้าน ในด้านการเงิน สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจอนุมัติงบประมาณของมหาวิทยาลัยทั้งหมด ทั้งในส่วนที่มาจากเงินแผ่นดิน เงินรายได้ที่มหาวิทยาลัยหาได้เอง และเงินจากแหล่งอื่นๆอีกหลายแหล่ง มหาวิทยาลัยบางแห่งมีงบประมาณจำนวนหลายพันล้านบาท และบางแห่งอาจถึงระดับหมื่นล้านบาทด้วยซ้ำไป ยิ่งกว่านั้นสภามหาวิทยาลัยยังมีอำนาจในการอนุมัติการลงทุนของมหาวิทยาลัยอีกด้วย จะอนุมัติให้ใช้เงินของมหาวิทยาลัยไปลงทุนในบริษัทใดหรือสถาบันการเงินใดก็ได้ และด้วยการที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากสถาบันการเงิน ดังนั้นโอกาสที่มหาวิทยาลัยจะนำเงินไปลงทุนกับสถาบันการเงินที่ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการอยู่ก็มีสูง 


ในการบริหารบุคลากร กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งอธิการและรองอธิการบดี มีอำนาจในการประเมินผลการทำงานอธิการบดี และสามารถให้คุณให้โทษในเรื่องอื่นๆ อีกหลายประการ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสภาวะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกรรมการสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะหากกรรมการสภาและผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดแนบแน่นกลมเกลียวกันก็การที่จะเกิดผลประโยชน์ต่างตอบแทนขึ้นมาก็มีง่ายยิ่งกว่าง่าย หากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตหรือไร้ธรรมาภิบาลของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อสภามหาวิทยาลัย โอกาสที่จะมีการตรวจสอบอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมก็เกิดขึ้นได้ยาก และสภามหาวิทยาลัยก็ยังมีอำนาจในการกำหนด ปรับปรุงและแก้ไขระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยได้แทบทุกเรื่อง รวมทั้งในอนุมัติการเปิดหลักสูตรใหม่ และการปรับปรุงและปิดหลักสูตรเก่า อนุมัติการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษา เป็นต้น


ด้วยเหตุนี้ตำแหน่งนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยจึงเป็นตำแหน่งที่ต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพื่อป้องกันการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในทางที่ไม่ชอบระหว่างนายก กรรมการและผู้บริหารมหาวิทยาลัย รวมทั้งเพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ต่อสังคมว่า มหาวิทยาลัยอันเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นสูงซึ่งเป็นแหล่งรวมของผู้ทรงภูมิปัญญา ควรจะเป็นองค์กรที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาลให้แก่องค์กรอื่นๆ ในประเทศต่อไป

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw